3 วิธีแก้ปัญหาโรคไทรอยด์ต่ำ เพื่อลดน้ำหนัก

_DSC6366
firstthaintp นักบำบัดโรด้วยอาหาร

โดย เอื้อมพร แสงสุวรรณ NTP

การลดน้ำหนัก เป็นเป้าหมายของสาว ๆ หลายคน แต่โปรแกรมการลดน้ำหนักต่าง ๆ กลับไม่ได้ผล หรือลงเอยที่โยโย่เอฟเฟ็ค (การกลับมาอ้วนอีกครั้ง) รู้ไหม บางที วิธีการลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือ การแก้ปัญหาโรคไทรอยด์ต่ำ

ดร. แอน หลุยส์ จิตเตอร์แมน ศัลยแพทย์ด้านระบบประสาท และนักโภชนบำบัด ชาวอเมริกัน กล่าวว่า เนื่องจากต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่ควบคุมพลังงานและการใช้พลังงานในร่างกาย (ส่งมาจากสมองส่วนไฮโปไธลาสมัสและพิทุยอิทารี่) โดยมีฮอร์โมน T3 และ T4 ทำหน้าที่นั้น ซึ่งควบคุมทั้งอุณหภูมิภายในร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ รวมทั้งการเป็น “metabolic fire” ชนวนการเผาผลาญ

ฉะนั้นฮอร์โมน T3 และ T4 จึงจำเป็นต้องมีปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปในการทำหน้าที่นี้ หมายความว่า ต้องไม่เป็นโรคไทรอยด์ต่ำ (hypothyroid) หรือโรคไทรอยด์สูง (hyperthyroid) เพราะฮอร์โมนทั้งสองนี้จะเป็นตัวสั่งการเพิ่ม หรือลดการทำงานของระบบเผาผลาญ

แต่ด้วยปัญหาสุขภาพ เช่น ความเครียด อาการป่วยไข้บางอย่าง ยาบางชนิด กินอาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองมากเกินไป และวัยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ (thyroid disorders) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งทำงานมากเกินไป (ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานมากเกินไป เป็นภาวะของโรคไทรอยด์สูง) และทำงานน้อยเกินไป (ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานน้อยเกินไป เป็นภาวะของโรคไทรอยด์ต่ำ) ซึ่งทำให้เราน้ำหนักขึ้น หรือไม่สามารถลดน้ำหนักได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคไทรอยต่ำ จะมีอาการต่าง ๆ ดังนี้ ตาบวม ไม่อยากกินอาหาร (แต่น้ำหนักเพิ่ม)เหนื่อยง่าย มือเท้าเย็น เป็นโรคซึมเศร้า ผมร่วง สมองเบลอ ผมร่วง ผิวแห้ง นอนไม่หลับ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ความต้องการทางเพศลดลง คลอเรสเตอรอลเพิ่มขึ้น ท้องผูก ความดันโลหิตสูงขึ้น ทั้งนี้ในคนที่มีอาการเหล่านี้ เมื่อต้องการลดน้ำหนัก จะทำให้สำเร็จได้ยาก ฉะนั้นจึงต้องแก้ปัญหาโรคไทรอยด์ต่ำก่อน

 

วิธีแก้ปัญหาโรคไทรอยด์ต่ำ ลดน้ำหนัก

 

  1. ระวังฮอร์โมนเอสโตรเจนเกิน

ดร. นายแพทย์จอห์น อาร์. ลี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องฮอร์โมนเอสโตรเจน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Hormone Balance Made Simpleกล่าวว่า การที่ร่างกายผู้หญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป และมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนน้อยมาก สามารถทำให้เกิดภาวะไฮโปไทรอยด์ หรือโรคไทรอยด์ต่ำ เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงเกินไป จะไปเพิ่มโปรตีนโกลบูลิน หรือ TBG ซึ่งช่วยพาฮอร์โมนไทรอยด์ไปยังกระแสเลือด ถ้าโปรตีนโกลบูลินสูง ปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์จะลดต่ำลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของไทรอยด์ลดต่ำลงด้วย เกิดเป็นโรคไทรอยด์ต่ำ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการลดน้ำหนัก

ฉะนั้น อาจต้องระวังเรื่องการรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ และไฟโตเอสโตรเจนในพืช จำพวก ถั่วเหลือง) ทั้งในผู้ที่หมดประจำเดือน ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว หรือคู่แต่งงานที่ยังไม่อยากมีลูก และฝ่ายหญิงต้องกินยาคุมกำเนิด นอกจากนี้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็เป็นส่วนผสมของเคมีภัณฑ์หลายชนิด ซึ่งจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง

 

  1. ระวังอาหารขัดขวางไทรอยด์

โปรตีนที่พบในกลูเต้นมีชื่อว่า เกลียดิน (gliadin) ซึ่งมีโครงสร้างใกล้เคียงกับเอนไซม์ชื่อ ทรานสกลูตามิเนส (transglutaminase) ที่มีอยู่ในไทรอยด์ เมื่อเกิดอาการแพ้กลูเต้น ร่างกายจะโจมตีเกลียดิน ซึ่งก็จะทำร้ายไทรอยด์ด้วย ส่งผลต่อปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ที่ลดต่ำลง เป็นโรคไทรอยด์ต่ำ ฉะนั้น ผู้ที่เป็นโรคไทรอยต่ำ ควรลดอาหารที่มีกลูเต้น

นอกจากนี้ การขาดโปรตีนก็ทำร้ายไทรอยด์ด้วยเหมือนกัน เพราะไทรอยด์ต้องการโปรตีนไปช่วยการทำงานให้ได้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเรื่องการควบคุมการเผาผลาญ ฉะนั้น ผู้ที่มีปัญหาไทรอยด์ต่ำ ควรกินอาหารที่มีโปรตีนเพิ่มขึ้น เช่น ปลา ไข่ เพื่อให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ต่ำ หากกินผักที่มีกอยโตรเจน (goitrogens) ซึ่งมีอยู่มากในพืชที่มีลักษณะเป็นดอก เช่น บร็อคโคลี่ กระหล่ำปลี ดอกคะน้า โดยไม่ผ่านการทำให้สุก กอยโตรเจนก็จะเข้าไปขัดขวางการทำงานของไทรอยด์ ในการนำไอโอดีนมาใช้ ทำให้ประสิทธิภาพการควบคุมการเผาผลาญของไทรอยด์ลดลง ส่งผลต่อการลดน้ำหนัก

สุดท้าย ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุจำเป็นสำหรับการทำงานของไทรอยด์ มีอยู่มากในพืชทะเล นอกจากนี้ การบริโภคอาหารที่มีโบรมีน ฟลูโอไรด์ และคลอไรด์มากเกินไป ก็ทำให้ร่างกายขาดไอโอดีนได้ เมื่อขาดไอโอดีน ประสิทธิภาพการทำงานของไทรอยด์ลดลง ก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพการลดน้ำหนัก

 

  1. กินน้ำมันมะพร้าวเพิ่ม

เราได้ยินเรื่องการกินน้ำมันมะพร้าว เพื่อลดน้ำหนักกันมาบ้างแล้ว ทฤษฎีนี้มาจากหลักการที่ว่า น้ำมันมะพร้าวไม่ต้องการน้ำดีในการช่วยในการแตกตัว จึงสามารถทำงานโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยไขมันในถุงน้ำดี นอกจากนี้ น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันลอริก เหมือนในน้ำนมแม่ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านเชื้อไวรัส ต้านปรสิต และต้านเชื้อรา ด้วยความที่เป็นไขมันอิ่มตัวสายยาวปานกลาง น้ำมันมะพร้าวจึงตรงเข้าไปช่วยการทำงานของไทรอยด์ ในส่วนของการเพิ่มการเผาผลาญถึงร้อยละ 50 จากปกติ ซึ่งจะช่วยให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ควรกินไขมันดีอื่น ๆ ได้แก่ ไขมันไม่อิ่มตัวที่มีโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และโอเมก้า 9 ให้ครบถ้วนด้วย

อ่านเรื่องลดน้ำหนักเพิ่มเติมได้ที่

ขาดแมกนีเซียม ลดน้ำหนักไม่เห็นผล

หยุดโรคพยาธิ ช่วยลดน้ำหนัก

วิธีกินไขมัน (ดี) ลดอ้วน ที่ถูกต้อง


Photography by Ueam